English  English

นครศรีธรรมราช

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ว่างอยู่ หลวงสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก (หนู) ซึ่งออกไปรับราชการ ตำแหน่งปลัดเมือง เป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิ จึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอิสระอยู่ก๊กหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรี ยาตรากองทัพไปปราบ และ จับตัวเจ้านคร (หนู) ได้ และมีพระราชดำริว่า เจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้ เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอ ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชดำริว่า เจ้านคร (หนู) ได้เข้ามารับราชการ มีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการ มีราชบุตร (คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา (หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138 (พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราช มีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิม เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี

มีเกร็ดย่อย คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการ จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีความชราภาพ จึงทรงยกขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และทรงตั้ง พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)คนใหม่

แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร (หนู) ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว (ปราง) มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ ก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจ จะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านคร จึงนำธิดา (ปราง) คนนี้ ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี เสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร (หนู) เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิต ก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้านคร (หนู) ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร (หนู) ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธน ตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนาง พาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมี ก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์ อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)

 

ความเป็นที่สุด

 

  • ชายฝั่งทะเล ยาวที่สุด 236 กิโลเมตร
  • แหลมทะเล ยาวที่สุดของไทย คือ แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง เกิดจากการทับถมของทราย ที่น้ำทะเลพัดพามา จนกลายเป็น สันดอนจะงอย ยื่นยาวเป็นแหลมออกไปจากชายฝั่งทะล มีความยาวประมาณ 16 กิโลเมตร ส่วนกว้างที่ของแหลมประมาณ 5 กิโลเมตร

 

  • มหาวิทยาลัย ที่มีบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ภายในวิทยาเขตเดียว มากกว่า 10,000 ไร่ ปัจจุบันมีนิสิตกำลังศึกษาอยู่มากกว่า 7,500 คน
  • เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด ในภาคใต้ คือ 1,548,028 คน (ข้อมูลวันที่ 31 ธันวาคม 2557)
  • ทิวเขานครศรีธรรมราช เป็นทิวเขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย มีภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนและเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง
  • มียอดเขาสูงที่สุดในภาคใต้ คือ ยอดเขาหลวง มีความสูง 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
  • มีที่พักและโรงแรมมากมายพอที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มากมาย ข้อมูลเพิ่มเติ่มของโรงแรม

 

English